โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลในธุรกิจแบบดั้งเดิม

PanaEk Warawit
2 min readFeb 7, 2021

--

Photo by Dennis Kummer on Unsplash

เมื่อพูดถึงคำว่า data infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล มันชวนให้นึกถึงบริษัทสมัยใหม่ ที่ใช้ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และมักจะเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับข้อมูลจำนวนมาก และสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสำคัญ

แต่ความจริงแล้ว ในธุรกิจทุกแบบ รวมถึงธุรกิจดั้งเดิม ที่เปิดดำเนินการมา 30–40 ปีขึ้นไป ก่อนหน้ายุค internet ต่างก็ต้องการ data infrastructure ทั้งสิ้น หากต้องการที่จะอยู่รอดได้ในยุคของข้อมูลข่าวสารนี้ เพียงแต่ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการนั้น ไม่ได้เน้นหนักไปในด้านความต้องการ “ทางเทคโนโลยี” แต่หนักไปทางด้าน mindset หรือแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการข้อมูลมากกว่า

Data Infrastructure ในอดีต

โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ก็คงไม่แตกต่างกับโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่นๆ ที่เป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาในหลากหลายมิติของธุรกิจ

ในขณะที่ธุรกิจสมัยใหม่ ถูกสร้างขึ้นมาบนโลกที่ทุกกิจกรรมถูกบันทึกไว้ในสื่อดิจิทัล การสร้าง data infrastructure ขึ้นพร้อมๆ กับโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ จึงเป็นเรื่องปกติ

แต่ในยุคก่อนหน้านั้น ย้อนหลังไป 30–40 ปีก่อน การก่อตั้งธุรกิจมีโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างจากในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง การมีสินทรัพย์เชิงกายภาพ เช่น ทำเล แหล่งทุน หรือโรงงาน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องใช้สำนักงานราคาสูง มีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่มี data center เป็นของตัวเอง

ในยุคนั้น ข้อมูล เป็นเพียง ผลพลอยได้จากการทำธุรกรรม และมีคุณค่าเพียงแค่ใช้สรุปผลประกอบการและปิดบัญชีในแต่ละงวดเท่านั้น ไม่น่าแปลกใจที่ในสมัยก่อน ฝ่าย data processing (ยังไม่เรียกว่า IT เพราะตอนนั้นทำหน้าที่แค่ process data เท่านั้น) ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของ Finance & Accounting

แต่ในปัจจุบัน ทุกแผนก ทุกกิจกรรมของธุรกิจ ต่างก็สร้างข้อมูลขึ้นมาเอง ยังไม่นับรวมถึงข้อมูลจากภายนอกองค์กร ที่เกิดขึ้นมากมายมหาศาล ความต้องการที่จะมี data infrastructure ที่เหมาะสม ในองค์กรธุรกิจแบบดั้งเดิมจึงเกิดขึ้นตามมา

ปัจจัยที่ผลักดันให้ data infrastructure เป็นเรื่องสำคัญ

Integration challenges: ระบบงานต่างกรรมต่างวาระ

ความท้าทายในการบูรณาการข้อมูลจากหลายระบบให้เป็นภาพเดียวกัน เกิดจากการที่ระบบงานต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเป็นระยะๆ ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีและความสนใจในแต่ละยุค ตั้งแต่ช่วงเริ่มของการผลิต เช่น ระบบ MRP ซึ่งภายหลังพัฒนามาเป็น ERP ที่เน้นการวางแผนทรัพยากรภายในขององค์กร และในยุคต่อมา เมื่อความสนใจของการบริหารหันออกนอกองค์กรมาที่ลูกค้า ก็เกิดระบบอย่าง CRM เข้ามา หลายองค์กรก็ลงทุนสร้าง enterprise data warehouse เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการบูรณาการข้อมูล แต่ก็ยังมีอัตราการประสบความสำเร็จที่ไม่สูงมากนัก

สึนามิข้อมูลภายนอกองค์กร

ในขณะที่ EDW ยังพยายามปลุกปล้ำกับการสร้างฐานข้อมูลกลางภายในองค์กร สึนามิ big data จากภายนอกองค์กรก็โหมเข้าใส่ ด้วยกระแส social media และวิถีชีวิตแบบดิจิทัลของผู้บริโภคโดยทั่วไป ที่เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องหันมาหาวิธีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบ big data ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายนอกองค์กร พยายามทำความเข้าใจ และผสานข้อมูลภายในและภายนอกองค์กรเข้าด้วยกัน

ความต้องการในการวิเคราะห์ข้อมูล

ด้วยพัฒนาการด้าน Data Analytics และตัวอย่างความสำเร็จที่มีให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้นำองค์กรโดยทั่วไป เริ่มตระหนักแล้วว่า คุณค่าของข้อมูล ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่เป็นผลพลอยได้หรือองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่มีศักยภาพที่จะกลายเป็น competitive advantage ได้หากสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้จากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์

ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับ data infrastructure ในธุรกิจดั้งเดิม

โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ที่จะสามารถตอบสนองปัจจัยทั้ง 3 ข้อข้างต้นได้นั้น จำเป็นต้องมีข้อควรพิจารณาให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วยด้าน Technology, Process & People

Technology

การเลือกใช้เทคโนโลยี สำหรับการสร้าง data infrastructure เพื่อธุรกิจดั้งเดิมต้องคำนึงถึงระบบ legacy ที่ได้ลงทุนไปแล้ว ควบคู่ไปกับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจ และแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปด้วยอัตราเร่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหมือน balancing act ที่ต้องคอยควบคุมสมดุลระหว่างเทคโนโลยีเดิมและเทคโนโลยีใหม่

Process

กระบวนการในที่นี้หมายถึงในด้านการบริหารจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง data standards, data governance, quality & access control, data protection และอื่นๆ ความยากในหัวข้อนี้ อยู่ที่การพยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในระดับองค์กร และการหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย เรียกว่าจำเป็นต้องใช้ political skills มากกว่า technical skills

People

ข้อนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภายในองค์กร ตั้งแต่เรื่อง data literacy ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถ สร้างข้อมูล อ่านข้อมูล ทำความเข้าใจ และสื่อสารด้วยข้อมูลได้ วัฒนธรรมการใช้และแบ่งปันข้อมูล และที่สำคัญที่สุดคือ การผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ เป็น data-based decision making แทนที่จะเป็น opinion-based แบบเดิม

การจะผลักดันในเกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในองค์กร จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการสนับสนุน โดยการทำเป็นตัวอย่าง จากผู้นำองค์กร

ส่งท้าย

โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล มีความจำเป็นกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสมัยใหม่หรือธุรกิจดั้งเดิม เพียงแต่แง่มุมปัจจัยอาจแตกต่างกันบ้าง ในธุรกิจดั้งเดิมมีมรดกตกทอดมา ทั้งในแง่ของระบบงาน เทคโนโลยี กระบวนการทำงาน และบุคลากร การให้ความสำคัญกับข้อควรพิจารณาที่ถูกต้องในแต่ละธุรกิจ ว่าควรจะเน้นที่ด้านใดอย่างไร จะส่งผลให้การสร้าง data infrastructure ในธุรกิจนั้นๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มาก

--

--

No responses yet